ข่าวแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืช ฉบับที่ 6 ประจำปี 2568 “แมลงบั่วในนาข้าว”

ข่าวแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืช เรื่อง ““แมลงบั่วในนาข้าว””
รูปร่างลักษณะ
มีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้นลำตัวยาวประมาณ3-4มิลลิเมตร หนวด และขามีสีดำ ชอบบินเข้าหาแสงไฟ เพศผู้มีลำตัวสีน้ำตาลปนเหลืองขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียส่วนท้องมี สีแดงส้ม วางไข่ใต้ใบข้าวเป็นส่วนใหญ่ในตอนกลางคืนโดยวางเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม 3-4 ฟอง เพศเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้หลายร้อยฟองในชั่ว อายุ 4 วัน
ลักษณะการเข้าทำลาย
หนอนจะแทรกตัวเข้าที่กาบใบ แล้วกินอยู่ที่จุดกำเนิดของหน่อข้าว ขณะที่หนอนอาศัยกัดกินอยู่ภายในตาข้าว ที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ทำให้เกิดเป็นช่องกลวงที่เรียกว่า “หลอดบั่วหรือหลอดหอม” ทำให้ข้าวไม่เจริญเติบโตและไม่ออกรวงในที่สุด
คำแนะนำป้องกันกำจัด
1. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของบั่วเป็นประจำ ให้สังเกตความเสียหายของแปลงข้างเคียงหรือ ดูตัวเต็มวัยของบั่วที่บินมาเล่นแสงไฟที่ใกล้กับแปลงปลูกตอนกลางคืน
2. กำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงนาครับ เพื่อทำลายพืชอาศัยของบั่ว
3. ไม่ปลูกข้าวหนาแน่นเกินไปครับ ควรมีระยะห่างที่แสงส่องถึงโคนได้
4. เลี่ยงปลูกข้าวในช่วงเดือนที่มักพบการระบาดเป็นประจำ
5. ใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน
6. สารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ สารไทอะมีโทแซม25%WG(4) อัตรา 16 กรัมต่อไร่ หรือสารฟิโพรนิล0.3% GR(2)
อัตรา 4 กิโลกรัมต่อไร่
7. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงดิน แมงมุม และแตนเบียนของแมลงบั่ว
แหล่งข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมการข้าว
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ปฏิบัติการภายใต้กำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *