ข่าวแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืช เรื่อง “เฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว”
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว เนื่องจากช่วงนี้มีรายงานสถานการณ์การระบาดในหลายพื้นที่ ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่น สำรวจแปลงมะพร้าว หากพบอาการทางใบมะพร้าวถูกแทะกินผิวใบบริเวณใต้ใบ โดยเฉพาะทางใบแก่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมและดำเนินการป้องกันกำจัดทันที”
ลักษณะการทำลาย
ตัวหนอนจะกัดแทะผิวใบบริเวณใต้ใบและนำมูลกับใบมะพร้าวที่กัดแทะสร้างเป็นทางยาวคล้ายอุโมงค์ห่อหุ้มลำตัว มักทำลายจากใบล่างจนใบมะพร้าวเกิดอาการแห้งและมีสีน้ำตาล หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้ หนอนหัวดำมะพร้าวสามารถแพร่กระจาย โดยติดไปกับต้นกล้ามะพร้าว ปาล์มประดับ ผลมะพร้าว หรือส่วนใบมะพร้าวซึ่งถูกนำจากแหล่งที่มีการระบาดเข้าไประบาดในพื้นที่ใหม่
รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิต
รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาว 1-1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย ในวัยตัวหนอน มีหัวสีดำ ลำตัวสีเหลือง สีของส่วนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ตัวหนอนมีสีน้ำตาลอ่อน และมีลายสีน้ำตาลเข้มพาดยาวตามลำตัว
วงจรชีวิต ไข่เมื่อวางใหม่ ๆ มีสีเหลืองอ่อน สีจะเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฟัก ระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอนมีอายุ 32-48 วัน เมื่อโตเต็มที่จะมีลำตัวยาว 2–2.5 เซนติเมตร มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง ระยะดักแด้ 9-11 วัน ระยะตัวเต็มวัยมีอายุ 5-11 วัน ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวเพศเมียสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 49-490 ฟอง
คำแนะนำป้องกันกำจัด
- วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้าย ต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด
- ปล่อยแตนเบียนบราคอน (Bracon hebetor) เพื่อควบคุมระยะหนอน อัตราไร่ละ 200 ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
- ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว อัตรา 10 มิลลิลิตร/ต้น หรือสารอะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร/ต้น เฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป
- กรณีมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 4-12 เมตร พ่นทรงพุ่มด้วยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร เป็นต้น หรือฉีดเข้าลำต้นด้วย สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มิลลิลิตร/ต้น หรือสารอะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร/ต้น
แหล่งข้อมูล : กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ปฏิบัติการภายใต้กำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี