โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง
เกษตรเขต 2 เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง ได้แก่ แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ ทุกระยะการเจริญเติบโต เนื่องจากอาจเกิดการระบาดของโรคราน้ำค้าง ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรงหรือสามารถ ขอคำแนะนำได้ที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
เชื้อสาเหตุ : Pseudoperonospora cubensis.
ลักษณะอาการ
อาการส่วนใหญ่จะเกิด บนใบ โดยจะเริ่มจากจุดแผลสีเขียวซีดต่อมาจะค่อยๆขยายขึ้นเป็นสีเหลืองและมีขอบเขตเป็นเหลี่ยมตามแนวหรือข่ายของเส้นใบขณะเดียวกันหากความชื้นในอากาศสูง เช่น ในระยะที่มีฝนปรอยหรือหมอกนํ้าค้างจัดทางด้านใต้ใบตรงกับจุดแผลที่เกิดขึ้นจะพบกลุ่มของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อสาเหตุลักษณะเป็นขุยหรือผงสีเทา ซึ่งเมื่อแก่หรือแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ในกรณีที่เกิดโรครุนแรงและสภาพแวดล้อมเหมาะสมใบส่วนใหญ่อาจถูกเชื้อเข้าทําลายอย่างรุนแรงสามารถทําให้ใบแห้งตาย ต้นอาจจะโทรมถึงตายได้ทั้งต้นสําหรับลูกแตงมักจะไม่ถูกเชื้อเข้าทําลายโดยตรงแต่เมื่อต้นเป็นโรคก็จะมีผลทางอ้อม เช่นเจริญเติบโตไม่เต็มที่ คุณภาพและรสชาติเสียไป
วิธีป้องกันกำจัด
- สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- เก็บใบหรือส่วนที่เกิดโรคไปเผาทำลาย
- บำรุงต้นพืชให้สมบูรณ์แข็งแรง
- คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
- ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
- พ่นด้วยไตรโคเดอร์มาในอัตราส่วนเชื้อสด 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
แหล่งข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมวิชาการเกษตร
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี